1.เครียดน้อย

เป็นความเครียดในชีวิตประจำวัน ซึ่งแต่ละคน สามารถปรับตัวได้เอง ไม่เกิดปัญหาสุขภาพของตนเอง และท่านยังสามารถช่วยดูแลบุคคลอื่นๆ ในครอบครัวและชุมชนได้ด้วย

2.เครียดปานกลาง (ถือว่าเป็นปกติ)

ในภาวะวิกฤติ หรือภัยพิบัติ ฯ จะทำให้บุคคลต้องเตรียมพร้อมในการจัดการกับปัญหาต่างๆ จนทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง ซึ่งยังถือว่าเป็นปกติ เพราะทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการเผชิญปัญหา

3.เครียดมาก (ต้องหาวิธีจัดการความเครียด )

ในภาวะวิกฤติหรือภัยพิบัติต่างๆ อาจทำให้เกิดการตอบสนองที่รุนแรงขึ้นชั่วคราว ซึ่งมักจะลดลงมาเป็นปกติหลังเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม ท่านควรมีการจัดการกับความเครียด ดังต่อไปนี้

3.1 ) การฝึกการหายใจ คลายเครียด (หายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องแฟบ) โดยการสาธิต และให้ฝึกปฏิบัติ

3.2 ) การพูดคุยกับคนใกล้ชิด การสวดมนต์ไหว้พระ การช่วยเหลือผู้อื่นที่ประสบปัญหา จะทำให้ความเครียดลดลง

3.3 ) การมีความหวังว่า เราจะก้าฟันอุปสรรคหรือปัญหาครั้งนี้ไปได้ และมองเห็นด้านบวก (มองในแง่ดี) เช่น อย่างน้อยก็ยังรักษาชีวิตไว้ได้ มีคนเห็นใจเห็นใจ และมีการช่วยเหลือจากฝ่ายต่าง ๆ 3.4 ) มองข้ามความขัดแย้งเก่า ๆ ในอดีต และรวมตัวกันช่วยให้ชุมชนฝ่าวิกฤติไปได้

3.5 ) ภายใน 2 สัปดาห์ ท่านควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินซ้ำว่าความเครียดลดลงหรือไม่ เพราะความเครียดที่มากและ ต่อเนื่องนำไปสู่โรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์

4.เครียดมากที่สุด (พบแพทย์)

เป็นความเครียดที่รุนแรงซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะร่างกาย ทำให้อ่อนแอเจ็บป่วยง่าย และมีผลกระทบต่อภาวะจิตใจ จนอาจทำให้เกิด โรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ทันที และได้รับการดูแลต่อเนื่องไปอีก 3 – 6 เดือน